สตส.กทม. จัดกิจกรรมเข้าวัด ไหว้พระ ฟังธรรม ร่วมทำบุญถวายสังฆทาน เนื่องในวันมาฆบูชา
*********************************************************
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาววนาพร ทองทิ หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด จัดกิจกรรมเข้าวัด ไหว้พระ ฟังธรรม ร่วมทำบุญถวายสังฆทาน เนื่องในวันมาฆบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร ณ วัดลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญ "วันมาฆบูชา"
"วันมาฆบูชา" ตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวัน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือน กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ความหมายของ "วันมาฆบูชา" คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือ เดือน 3 ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
มาฆบูชา กับเหตุการณ์สำคัญ
วันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง 4 ประการ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ดังนี้
1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่ง พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
3. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
เหตุอัศจรรย์ 4 ประการ เรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งมีความหมายดังนี้
จาตุร แปลว่า 4 , องค์ แปลว่า ส่วน , สันนิบาต แปลว่า ประชุม จาตุรงคสันนิบาต จึงหมายความว่า การประชุมด้วยองค์ 4 หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ วันมาฆบูชา สำหรับ หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่ว ดังนี้
ทางกาย เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา เช่น การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ เช่น การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ดังนี้
ความดีทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ความดีทางวาจา เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
ความดีทางใจ เช่น ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่
ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน, ความลังเลสงสัย, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน, ความลังเลสงสัย
3 หลักการ สรุปใจความสำคัญได้ว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
อุดมการณ์ 4 ได้แก่
1. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
วิธีการ 6 ได้แก่
1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
2. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
5. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี |